หลักสูตรการเรียนการสอน
หลักสูตร
1) หลักสูตรมุ่งเน้นการวิจัย (ไม่มีรายวิชาเรียน)
2) หลักสูตรที่มีรายวิชาเรียน
รายวิชาบังคับ (สำหรับหลักสูตรทุกแบบ)
นิสิตต้องลงทะเบียนในรายวิชาบังคับที่ไม่นับหน่วยกิต ดังนี้
2300894 สัมมนาระดับดุษฎีบัณฑิต (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่)
2300501ทักษะในการถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
2300602 แนวคิดแบบบูรณาการและปรัชญาด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
2300603 ยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การสอบวัดคุณสมบัติ
- นิสิตต้องส่ง Scope of Study ที่ได้รับความเห็นชอบและลงนามโดยอาจารย์ที่ปรึกษาหลักแล้ว ให้คณะกรรมการบริหารหลักสูตรพิจารณาในภายในสัปดาห์ที่ 2 ของภาคการศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชา 2300897 Qualifying Examination โดย Scope of Study ต้องประกอบด้วย ชื่อโครงการวิจัย ชื่อนิสิต ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก วัตถุประสงค์การทำวิจัยหลัก แนวเหตุผล รวมทั้งแนวทางและเทคนิคในการทำวิจัยให้มีความชัดเจนพอสมควร โดยเขียนเป็นภาษาอังกฤษ จัดพิมพ์ในกระดาษ A4 ความยาว 1 หน้ากระดาษ
- คณะกรรมการบริหารหลักสูตร จะพิจารณากำหนดรายวิชาที่นิสิตต้องสอบ (จำนวน 3 รายวิชา โดย 1 วิชาจะเป็นวิชาตามแขนงวิชาที่นิสิตเข้าศึกษา) ผู้ออกข้อสอบ และเกณฑ์น้ำหนักคะแนนของแต่ละรายวิชาที่สอบ โดยประมวลจากข้อมูลที่นิสิตเขียนใน Scope of Study ทั้งนี้อาจารย์ที่ปรึกษาหลักสามารถแนบบันทึกข้อความเสนอรายวิชาที่อาจารย์คิดว่าจำเป็นสำหรับการทำวิจัยของนิสิตไม่เกิน 5 รายวิชา มาให้คณะกรรมการบริหารหลักสูตรใช้ประกอบการพิจารณาได้
- เลขานุการหลักสูตรฯ จะเป็นผู้กำหนดวัน เวลา และสถานที่สอบ
- เกณฑ์การประเมินวิชา 2300897 Qualifying Examination
4.1 นิสิตต้องสอบได้คะแนนแต่ละวิชาไม่ต่ำกว่า 50% จากนั้นให้คิดคะแนนของแต่ละรายวิชาตาม เกณฑ์น้ำหนักคะแนนที่กำหนด และจึงนำคะแนนของทุกรายวิชาที่สอบมารวมกัน ผลคะแนนสอบรวม 3 รายวิชา ต้องไม่ต่ำกว่า 60% จึงจะถือว่าสอบผ่านรายวิชา 2300897 Qualifying Examination
4.2 ถ้าผลคะแนนสอบรวม 3 รายวิชา ไม่ต่ำกว่า 60% แต่มีบางรายวิชาได้คะแนนต่ำกว่า 50% ให้ถือว่าสอบไม่ผ่านในรายวิชา 2300897 Qualifying Examination ซึ่งในการลงทะเบียนรายวิชา 2300897 Qualifying Examination ครั้งที่ 2 ให้นิสิตสอบเฉพาะรายวิชาที่ได้คะแนนต่ำกว่า 50%
4.3 ถ้าผลคะแนนสอบรวม 3 รายวิชา ต่ำกว่า 60% ให้ถือว่าสอบไม่ผ่านในรายวิชา 2300897 Qualifying Examination ซึ่งในการลงทะเบียนรายวิชา 2300897 Qualifying Examination ครั้งที่ 2 ให้นิสิตสอบรายวิชาที่ได้คะแนนไม่ถึง 60% ทุกรายวิชา
- ในการลงทะเบียนเรียนครั้งที่ 2 ให้นำคะแนนสอบของรายวิชาที่สอบใหม่มารวมกับรายวิชาที่สอบผ่านในการลงทะเบียนครั้งที่ 1 โดยการคิดคะแนนของแต่ละวิชาให้ใช้ตามเกณฑ์น้ำหนักคะแนนที่กำหนดไว้เดิม ผลคะแนนสอบรวม 3 รายวิชาต้องไม่ต่ำกว่า 60% จึงจะถือว่าสอบผ่าน 2300897 Qualifying Examination
- ตามข้อบังคับฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตมีสิทธิ์ลงทะเบียนเรียนรายวิชา 2300897 Qualifying Examination ได้เพียง 2 ครั้ง และถ้าผลสอบในการลงทะเบียนเรียนครั้งที่ 2 ไม่ผ่าน จะต้องพ้นสภาพความเป็นนิสิต
- นิสิตต้องสอบวัดคุณสมบัติและได้สัญญลักษณ์ S “satisfied” ภายในกำหนดระยะเวลาดังต่อไปนี้ นับแต่ภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษา
7.1 นิสิตที่เข้าศึกษาด้วยวุฒปริญญาโท (หลักสูตรแบบ 1.1 และ 2.1) ภายใน 4 ภาคการศึกษา
7.2 นิสิตที่เข้าศึกษาด้วยวุฒปริญญาตรี (หลักสูตรแบบ 1.12 และ 2.2) ภายใน 5 ภาคการศึกษา
การสอบป้องกันโครงร่างวิทยานิพนธ์
1. ให้นิสิตส่งแบบเสนอขออนุมัติโครงร่างวิทยานิพนธ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักและร่วม (ถ้ามี) ให้เลขานุการคณะกรรมการบริหารหลักสูตรล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการนำเสนอในชั่วโมงสัมมนาวิชา 2300894 Doctoral Dissertation Seminar โดยนิสิตจะต้องเว้นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ไว้ 2 ตำแหน่ง เพื่อให้คณะกรรมการบริหารหลักสูตรแต่งตั้งกรรมการสอบตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
สำหรับนิสิตรหัส 61 เป็นต้นไป กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 7 คน ประกอบด้วย อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม (ถ้ามี), กรรมการสอบ 3 คน (อย่างน้อย 2 คน ต้องเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรฯ) และ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสอบ 1 คน ดังนี้
ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ประธานคณะกรรมการ (อาจารย์ที่ปรึกษาอาจเสนอผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกให้กรรมการฯ พิจารณา)
อาจารย์ที่ปรึกษา
อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม (ถ้ามี)
อาจารย์ในภาควิชาที่สังกัด กรรมการ
อาจารย์นอกภาควิชาที่สังกัด (ภาควิชาที่ร่วมบริหารในหลักสูตร) กรรมการ
หัวหน้าภาควิชาที่สังกัด กรรมการ
ทั้งนี้นิสิตต้องเขียนแบบเสนอขออนุมัติโครงร่างวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษในแบบฟอร์ม D1–D5 ฉบับล่าสุดของคณะวิทยาศาสตร์ (www.acad.sc.chula.ac.th)
2. สำหรับเอกสารแนบให้เขียนเป็นภาษาอังกฤษที่มีไวยากรณ์ถูกต้อง และมีความยาวไม่เกิน 10 หน้ากระดาษ A4 โดยมีการค้นคว้าเอกสาร (literature review) ที่ชัดเจน กระชับ และอ้างอิงครบถ้วน และระบุแนวทางการวิจัย การออกแบบงานวิจัย (experimental design) และเทคนิคในการทำวิจัยให้มีรายละเอียดพอสมควร
3.ภายหลังการนำเสนอโครงร่างวิทยานิพนธ์ในชั่วโมงสัมมนาวิชา 2300894 Doctoral Dissertation Seminar ให้นิสิตเข้าสอบป้องกันโครงร่างวิทยานิพนธ์ต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตร (หากนิสิตไม่ได้นำเสนอโครงร่างวิทยานิพนธ์ในระหว่างภาคการศึกษา สามารถนำเสนอโครงร่างวิทยานิพนธ์ต่อคณะกรรมการโดยตรง นอกชั่วโมงวิชาสัมมนาได้) ทั้งนี้ นิสิตควรมีความเข้าใจในงานวิจัยของตน และมีความรู้พื้นฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นองค์ประกอบหลักที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตรใช้พิจารณานอกเหนือจากปริมาณงานที่นิสิตเสนอ โครงร่างวิทยานิพนธ์ของนิสิตต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารคณะวิทยาศาสตร์ภายใน 6 ภาคการศึกษานับแต่แรกเข้า มิฉะนั้นจะสิ้นสถานภาพความเป็นนิสิต
4.เมื่อโครงร่างวิทยานิพนธ์ของนิสิตได้รับการอนุมัติจากคณะวิทยาศาสตร์แล้ว นิสิตจะต้องดำเนินการวิจัยตามแนวทางที่เสนอไว้ ให้ครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ หากนิสิตมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแผนการวิจัยจนไม่เป็นไปตามที่เสนอไว้ ให้นิสิตยื่นแบบเสนอขออนุมัติโครงร่างวิทยานิพนธ์ฉบับแก้ไขให้คณะกรรมการบริหารหลักสูตรพิจารณา ในกรณีที่มีการปรับแก้ไขต่างจากเดิมมาก นิสิตต้องเข้าสอบป้องกันโครงร่างวิทยานิพนธ์ต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรอีกครั้ง ก่อนวันสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และโครงร่างวิทยานิพนธ์ฉบับแก้ไขจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารคณะวิทยาศาสตร์ก่อนวันสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ไม่ต่ำกว่า 60 วัน
5.ให้นิสิตบันทึกข้อมูลโครงร่างวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการอนุมัติแล้ว บนฐานข้อมูล online ของบัณฑิตวิทยาลัย
การสอบป้องกันวิทยานิพนธ์
1. นิสิตจะสอบวิทยานิพนธ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
1)ลงทะเบียนเรียนรายวิชาครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และผ่านเกณฑ์คะแนนทดสอบความรู้ความสามารถภาษาอังกฤษที่กำหนดโดยบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2)โครงร่างวิทยานิพนธ์ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารคณะวิทยาศาสตร์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันสอบวิทยานิพนธ์
3)มีหลักฐานแสดงว่าได้ส่งบทความซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ให้วารสารทางวิชาการ (ที่มหาวิทยาลัยยอมรับ) พิจารณาเพื่อการตีพิมพ์แล้ว (submitted) ตามเกณฑ์ ดังนี้
-หลักสูตรแบบ 1.1 และ 1.2 (เน้นการทำวิทยานิพนธ์) ต้องเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งต้องเป็นวารสารระดับนานาชาติอย่างน้อย 1 ฉบับ
-หลักสูตรแบบ 2.1 และ 2.2 (เรียนรายวิชาและทำวิทยานิพนธ์) ต้องเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติจำนวน 1 ฉบับ
ทั้งนี้ นิสิตต้องแนบหลักฐานการส่งบทความจากบรรณาธิการของวารสารมาพร้อมกับแบบฟอร์มกำหนดการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์สอบด้วย
2. นิสิตควรติดต่อขอสอบวิทยานิพนธ์ที่หลักสูตรฯ อย่างน้อย 3 สัปดาห์ก่อนวันสอบ และ ส่งเล่มวิทยานิพนธ์ให้กรรมการอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนวันสอบ
3. ในการส่งเล่มวิทยานิพนธ์ให้กรรมการ นิสิตจะต้องแนบจดหมายเชิญกรรมการสอบฯ โครงร่างวิทยานิพนธ์ฉบับที่ได้รับการอนุมัติจากคณะวิทยาศาสตร์ และใบประเมินเล่มวิทยานิพนธ์
4. สำหรับการประเมินผลการสอบวิทยานิพนธ์ ให้ใช้ระบบประเมินของภาควิชาที่นิสิตสังกัด
5.สำหรับข้อกำหนดอื่น ๆ ในการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ ให้ดำเนินการตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2561 สำหรับนิสิตที่มีเลขประจำตัว 617 xxxxx 23 เป็นต้นไป หรือข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2551 สำหรับนิสิตที่มีเลขประจำตัว 5X(หรือ60)7 xxxxx 23 และกฎเกณฑ์อื่น ๆ ที่ประกาศเพิ่มเติมโดยมหาวิทยาลัย และ คณะ
เกณฑ์การตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการสำหรับขอสำเร็จการศึกษา
1.นิสิตต้องเขียน manuscript ที่เกี่ยวข้องกับงานวิทยานิพนธ์ของนิสิตเองในลักษณะของ Full research article ส่วนการเขียนในรูปแบบ short note หรือ short communication หลักสูตรจะไม่นับให้เป็นส่วนหนึ่งของการจบการศึกษา
2.การตีพิมพ์ผลงานวิจัย วิทยานิพนธ์ต้องมีชื่อนิสิตผู้ทำวิทยานิพนธ์เป็นชื่อแรก (first author) มีชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาหลัก (และ/หรือ อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม) เป็น corresponding author นอกเหนือจากนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก
3.การใส่ address ให้นิสิตใช้ 2 address คือ
1 Biological Sciences Program, Faculty of Science, Chulalongkorn University, Bangkok 10330, Thailand
2 Department of……………….., Faculty of Science, Chulalongkorn University, Bangkok 10330, Thailand
หลักสูตรฯ ไม่อนุญาตให้นิสิตระบุ current address อื่นที่ไม่ใช่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก สามารถระบุเฉพาะภาควิชาที่สังกัด และ หน่วยวิจัยที่สังกัด (ถ้ามี) โดยไม่ต้องระบุชื่อหลักสูตร
4.เมื่อนิสิตส่งบทความให้วารสารทางวิชาการพิจารณาเพื่อตีพิมพ์แล้ว (submitted) ให้นิสิตส่งจดหมายการตอบรับการส่งบทความจากบรรณาธิการของวารสารนั้น พร้อมทั้งแนบสำเนาหน้าแรกของบทความที่ระบุ ชื่อเรื่อง ชื่อผู้ทำวิจัย (first author และ corresponding author) มายังเลขานุการหลักสูตรโดยเร็วที่สุด เพื่อให้คณะกรรมการบริหารหลักสูตรพิจารณาความถูกต้องต่อไป
5.ฐานข้อมูลวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติต้องมีชื่อปรากฎอยู่ในฐานข้อมูล เป็นไปตามประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการ สิ่งพิมพ์ทางวิชาการ และรายงานการประชุมฉบับสมบูรณ์ สำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการของนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2562
เกณฑ์ในการขอสำเร็จการศึกษา
- นิสิตต้องมีคะแนนสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ (CU-TEP มากกว่า67; TOEFL มากกว่า 525; IELTS มากกว่า 5.5) หรือต้องผ่านรายวิชาภาษาอังกฤษตามที่บัณฑิตวิทยาลัยหรือหลักสูตรกำหนด
- นิสิตต้องลงทะเบียนรายวิชา 2300897 การสอบวัดคุณสมบัติ และสอบผ่านด้วยเกรด S ภายใน 4 ภาคการศึกษา (แบบที่ 1.1 และ 2.1) และ ภายใน 5 ภาคการศึกษา (แบบที่ 1.2 และ 2.2)
- นิสิตต้องสอบป้องกันโครงร่างวิทยานิพนธ์และวิทยานิพนธ์ ตามกฎของหลักสูตรวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และ บัณฑิตวิทยาลัย
- นิสิตต้องมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ตามที่หลักสูตรกำหนด
เกณฑ์สำเร็จการศึกษา
- นิสิตต้องลงทะเบียนและผ่านรายวิชาที่ต้องลงทะเบียนทั้งหมด ด้วยเกรดเฉลี่ยสะสม GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.00
- นิสิตต้องมีคะแนนภาษาอังกฤษ (CU-TEP มากกว่า 67; TOEFL มากกว่า 525; IELTS มากกว่า 5.5) หรือต้องผ่านรายวิชาภาษาอังกฤษตามที่บัณฑิตวิทยาลัยหรือหลักสูตรกำหนด
- นิสิตต้องลงทะเบียนรายวิชา 2300897 การสอบวัดคุณสมบัติ และสอบผ่านได้สัญลักษณ์ S ภายใน 4 ภาคการศึกษา (แบบที่ 1.1 และ 2.1) และ ภายใน 5 ภาคการศึกษา (แบบที่ 1.2 และ 2.2)
- นิสิตต้องสอบป้องกันโครงร่างวิทยานิพนธ์และวิทยานิพนธ์ ตามกฎของหลักสูตรวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และ บัณฑิตวิทยาลัย
- นิสิตต้องมีผลงานผลงานทางวิชาการที่ตีพิมพ์เผยแพร่ตามที่หลักสูตรกำหนด